หมวดหมู่: บทวิเคราะห์
Asia Plus Group Holding
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
 
กลยุทธ์การลงทุน    
วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2562
เชื่อว่าการดีดตัวกลับขึ้นของราคาหุ้นในช่วงนี้น่าจะเป็นลักษณะของ Technical Rebound เนื่องจากสถานการณ์แวดล้อมทางพื้นฐาน เฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน ยังไม่นิ่ง และอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อีกมาก กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ แนะนำให้ปรับพอร์ตการลงทุนโดยขายทำกำไร BJC และสลับเข้ามาที่ PLANB แทน สำหรับหุ้น Top Picks เช้านี้เลือก PLANB (This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.) และ JASIF ซึ่งให้ Dividend Yield สูงกว่า 8% (Freehold)
        SET Index    1,671.48
        เปลี่ยนแปลง (จุด)    5.49
        มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท)    70,440
            
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเช้า
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยเปิดดิ่งกว่า 13 จุด ก่อนที่จะทยอยปรับตัวขึ้นในช่วงเช้า จนสุดท้ายปิดที่ระดับ 1671.48 จุด เพิ่มขึ้น 5.49 จุด (+0.33%) มูลค่าการซื้อขาย 7.04 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่ผลักดันตลาด คือ กลุ่มสื่อสารเช่น ADVANC(+4.37%) INTUCH(+4.51%) DTAC(+4.85%) TRUE(+5.00%) กลุ่มค้าปลีกอย่างเช่น COM7(+3.00%) DOHOME(+11.54%) HMPRO(+4.22%) และกลุ่มการเงินอย่างเช่น MTC(+2.54%) JMT(+7.47%)  KTC(+1.65%) SAWAD(+3.32%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่าง BDMS(+1.21%) BGRIM(+2.90%) และ KBANK(+0.58%) เป็นต้น 
ความรู้สึกผ่อนคลายลงในประเด็นเรืองการเจรจาการค้า สหรัฐฯ-จีน ทำให้ดาวโจนส์ รวมถึงตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกดีดตัวกลับขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตามหากประเมินจากพัฒนาการของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเชื่อว่ายังจะต้องผ่านความผันผวนอีกมาก อีกทั้งยังไม่สามารถคาดเดาผลสรุปที่ชัดเจนได้ ดังนั้นการดีดตัวขึ้นมาของราคาหุ้นในช่วงนี้ จึงยังถูกมองว่าเป็นภาพของ Technical Rebound ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามในวันนี้ยังมีหลากหลาย เริ่มจากการประชุม กนง. ซึ่งคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ตามเดิม แต่ก็ยังถูกคาดหมายว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 หากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีขึ้นก็อาจเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง อีกเรื่องหนึ่งที่น่าติดตามได้แก่ สถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งมีการนำกรณีที่ นายกรัฐมนตรีนำ ครม. เข้าถวายสัตย์ฯ แต่ไม่ได้กล่าวข้อความตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญครบถ้วน ไปขยายผลทางการเมือง ซึ่งในประเด็นนี้สิ่งที่ฝ่ายวิจัยให้ความสำคัญ เป็นมุมของความเสี่ยงที่อาจทำให้กำหนดการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ซึ่งกำหนดการที่ทำไว้ในปัจจุบันอาจทำให้การเบิกจ่ายล่าช้าออกไปราว 4 เดือนแล้ว อาจจะเห็นการล่าช้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ รวมถึง Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นด้วย กลยุทธ์การลงทุนในวันนี้ ฝ่ายวิจัยมีการพิจารณาปรับพอร์ตการลงทุน โดยการลดน้ำหนักในหุ้นกลุ่มค้าปลีก ซึ่งมีอยู่มากถึง 20% ผ่านการขายทำกำไรหุ้น BJC ที่มีน้ำหนัก 10% ออก และย้ายเม็ดเงินลงทุนเข้าไปในหุ้น PLANB ซึ่งปรากฎ Growth Story ที่ชัดเจนกว่าเข้ามาแทน ด้วยน้ำหนักการลงทุนที่เท่ากัน
สงครามการค้ายังคงกดดันราคาน้ำมันดิบ 
ราคาน้ำมันดิบโลกปรับฐานต่อเนื่องนับตั้งแต่ 30 ก.ค. จนถึงปัจจุบันราว  10.6%  โดยปัจจัยกดดันหลักมาจากฝั่ง Demand จากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หลังจากสงครามการสหรัฐกับจีนกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง  หลังจากฝั่งสหรัฐเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าต่อจีนอัตรา 10% ในรอบที่ 4 วงเงิน 3 ล้านเหรียญฯ มีผลวันที่ 1 ก.ย. 2562   (ปัจจจุบันสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า 3 รอบ ภาษี 25% วงเงิน 3 แสนล้านเหรียญฯ)  ขณะที่จีน ต้นสัปดาห์นำร่องปรับค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่  7.0357 หยวนต่อดอลล่าร์ฯ ระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี เพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออกในประเทศ   โดยตลาดให้น้ำหนักทั้ง 2 ฝั่งยังมีโอกาสเจรจากัน ในเดือน ก.ย. ที่สหรัฐ 
เช่นเดียวกับฝั่ง Supply ล่าสุด คือ จากอิหร่าน (กำลังการผลิตราว 2.2 ล้านบารร์เรล/วันหรือ  7.4%ของกลุ่ม OPEC ที่อาจจะกลับมาอีกครั้ง หลังจากจีนมีแผนจะนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านอีกครั้ง หลังจากสงครามการค้าประทุ   (อิหร่านถูกสหรัฐคว่ำบาตรราวงวด 3Q2561  ทำให้ไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้)  อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยหนุนจากกลุ่มประเทศ  OPEC และ Non OPEC ขยายระยะเวลาตัดลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรล/วันออกไปจนถึง  31 มี.ค. 2563  
ราคาน้ำมันดูไบลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดราคาปิดวานนี้อยู่ที่  56.08  เหรียญฯ  หรือเฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 63.6 เหรียญฯ  แต่ยังสูงกว่าสมมติฐานที่  ASPS  คาด 60 เหรียญฯ   ในปี 2562 และนับจากปี 2563  เป็นต้นไปคาดที่ 65 เหรียญฯ  กลยุทธ์การลงทุนหุ้นพลังงาน-โรงกลั่น แนะนำชะลอการลงทุนการลงทุนออกไปก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบยังมีโอกาสอ่อนตัว และผลประกอบการของกลุ่มงวด 2Q62 ที่จะทยอยประกาศในช่วงนี้ จนถึง 15 ส.ค. คาดอ่อนตัวจากงวดก่อนหน้า  เนื่องจากจะมีการบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน Stock loss  
ธนาคารกลางในแถบเอเซีย รวมถึง กนง. ประชุมวันนี้  
วันนี้มีประชุมธนาคารกลางในแถบเอเชียหลายแห่ง เริ่มตั้งแต่ ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ตลาดคาดว่าทั้ง 2 ประเทศจะลดดอกเบี้ยลงอีก คือ ตลาดคาด RBNZ จะลดดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในปีนี้จาก 1.5% ลงเหลือ 1.25% (แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์) เช่นเดียวกับ  RBI คาดจะลดดอกเบี้ยจาก  5.75% ลงเหลือ 5.5% นับเป็นการลดครั้งที่ 4 ในปีนี้  โดยเหตุผลเพื่อรองรับผลกระทบจากสงครามการค้า และวัฎจักรดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาลง  
ขณะที่ไทย วันนี้ประชุม กนง. ASPS คาดว่าในรอบนี้ กนง. น่าจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% แต่ให้น้ำหนักไปที่การส่งสัญญาณแนวโน้มดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยประเด็นที่ กนง. ให้น้ำหนักพิจารณาขึ้น/ลงดอกเบี้ย คือ 
•    อัตราเงินเฟ้อ ล่าสุดเดือน ก.ค. ขยายตัว 0.98%yoy เพิ่มขึ้นจาก 0.87%yoyในเดือน มิ.ย. (เทียบกับ ASPS คาดเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี  2562 อยู่ที่  1.08%) ยังต่ำกว่าดอกเบี้ยที่  1.75%  ทำให้ยังมีช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยกับเงินเฟ้อที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 
•    แนวโน้มเศรษฐกิจไทย เนื่องจากภาคการส่งออกของไทยเผชิญกับปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และผลกระทบของสงครามการค้า  (การส่งออกไทย 1H62 หดตัวราว 2.9%yoy) และในวันที่ 19 ส.ค. สภาพัฒน์จะรายงาน GDP growth งวด 2Q62 คาดขยายตัวในระดับที่ทรง/ต่ำกว่า งวด 1Q62 ที่ขยายตัว 2.8% เนื่องจากฐานปี 2561 ที่สูง และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ ภาคส่งออกราว 68% ของ GDP) ที่ชะลอตัวชัดเจน คือ 6M62 ส่งออกติดลบ 2.9% ทำให้มีแนวโน้มทั้งปี GDP Growth ปี 2562 ต่ำกว่า 3% (ASPS คาด 2.7%)
โดยรวม  ASPS เชื่อว่าระยะสั้น กนง. น่าจะยังไม่รีบลดดอกเบี้ยลง   แต่ยังมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปีได้  หลังจากหลายภาคส่วน อาทิ สภาอุตสหกรรมที่เสนอให้ลดดอกเบี้ย เป็นต้น   และหากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง รวมดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาลงชัดเจนดังกล่าวข้างต้น   
ประเด็นการเมือง เป็นความเสี่ยงต่องบประมาณ-เศรษฐกิจ
ผลสืบเนื่องจากกรณีที่ นายกรัฐมนตรีนำ ครม. เข้าถวายสัตย์ปฎิญาณ โดยที่กล่าวข้อความไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ได้ถูกนำมาขยายผลเป็นประเด็นทางการเมือง โดยแยกเป็นการดำเนินการ 2 แนวทาง แนวทางแรกเป็นการดำเนินการในสภาฯ ซึ่งพรรคการเมืองฝ่ายค้านจะดำเนินการยื่นเป็นกระทู้ถามเพื่อให้ชี้แจงเป็นลำดับแรก และอาจมีการขยายไปสู่การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งมีกำหนดเบื้องต้นว่าจะดำเนินการก่อนที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 จะเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ ช่วงกลางเดือน ต.ค. 2562 อีกแนวทางหนึ่ง เป็นการที่องค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ส่งคำร้องไปยังศาลปกครอง หรือ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ซึ่งผลของการดำนเนงานทั้ง 2 แนวทาง อาจมีผลกระทบต่อสถานะของรัฐบาลในอนาคต โดยนักลงทุนต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง
ส่วนผลกระทบอีกทางหนึ่ง น่าจะเป็นเรื่องของกรอบเวลาในการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ตามกำหนดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคาดว่าจะเริ่มขั้นตอนพิจารณาในสภาฯ 17 ต.ค.2562 และน่าจะแล้วเสร็จพร้อมเบิกจ่ายในเดือน ก.พ.2563 ซึ่งก็ถือเป็นการเบิกจ่ายช้ากว่าปีงบประมาณปกติกว่า 4 เดือน นับว่ามีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะที่ต้องการมาตรการเข้ามากระตุ้นอย่างเร่งด่วน แต่หากมีประเด็นเรื่องการเมืองดังกล่าวเข้ามา ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับกำหนดการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่อาจล่าช้าไปจากกำหนดการเดิมได้ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับการลงทุนในตลาดหุ้นเช่นกัน นักลงทุนจึงควรต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
PLANB…เติบโตโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง
PLANB ได้สิทธิถ่ายทอดสดการแข่งขัน “โอลิมปิก โตเกียว 2020” ถือเป็นบวกต่อ PLANB เนื่องจากสิทธิการตลาดสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกทั้งหมด 4 รายการที่ PLANB ได้บริหารร่วมกับบริษัท DentsuX นั้น ไม่ใช่เพียงสิทธิในการถ่ายทอดสดเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงสิทธิบริหารผู้สนับสนุน (Sponsorship) และสิทธิในการบริหารคอนเทนต์ซึ่งเป็นสิ่งที่ PLANB มีความเชี่ยวชาญ และหนุนให้ผลประกอบการในปี 2563-2565 เติบโตดี
ผลการดำเนินงานงวด 2Q62 ที่จะประกาศในวันที่ 14 ส.ค. คาดกำไรทำจุดสูงสุดใหม่เติบโต  20% YoY และ 19% QoQ  เท่ากับ 183 ล้านบาท หนุนหลักจากการขยายพื้นที่ให้บริการสื่อโฆษณาโดยเฉพาะสื่อโฆษณาดิจิตอล เช่น โครงการ Central World Connect, Bangkok Jam, Paragon Motion Block ส่งผลให้อัตราการใช้สื่อของ PLANB เพิ่มขึ้นเป็น 75% จาก 67% ใน 1Q62 และสูงกว่า 2Q61 ที่ทำได้ 73% 
ขณะที่การร่วมมือกันของผู้เล่นรายใหญ่ ระหว่าง VGI และ PLANB ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 70% จะเพิ่มอำนาจการต่อรองกับลูกค้าและเอเจนซี่มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเม็ดเงินที่ PLANB ได้รับจากการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ VGI จำนวน 2.3 พันล้านบาท จะเกิดการลงทุนขยายพื้นที่ให้บริการสื่อโฆษณา  ส่งผลกำลังการผลิตสื่อโฆษณาเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยราว 15-20% ต่อปี รวมไปถึงการพัฒนาต่อยอดสื่อรูปแบบใหม่ที่จะสามารถแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณาได้เพิ่มขึ้น
ราคาหุ้นมี Upside สูงถึง 20.9%  จากมูลค่าพื้นฐาน 10.40 บาท แนะนำ ซื้อ
หลบภัย Trade War เข้าหุ้นปันผลสูง (ชอบ JASIF)
ประเด็นสงครามการค้ายืดเยื้อ หลังจากสหรัฐขู่ขึ้นภาษีจีนรอบที่ 4 ตามมาด้วยจีนตอบโต้สหรัฐต่อเนื่อง เริ่มจากการแทรกแซงค่าเงินหยอนให้อ่อนค่า จนแตะระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี ที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์ และเข้าตกลงซื้อขายน้ำมันกับอิหร่าน (สหรัฐประกาศคว่ำบาตร โดยห้ามทุกประเทศทำการค้ากับอิหร่านไปช่วงต้นเดือน พ.ค. 62) กดดันให้นักลงทุนย้ายเงินมาลงทุนจากสินทรัพย์เสี่ยงมาสู่สินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น สังเกตได้จากในเดือน ส.ค. ต่างชาติขายสุทธิหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค รวมถึงไทย
 
นักลงทุนพักเงินในสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง ทองคำ (ราคาทำจุดสูงสุดในรอบ 6 ปี) รวมถึงเม็ดเงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้มากจนทำให้ Bond Yield 10 ปี ของไทยลดลงมาอยู่ที่ 1.71% (ต่ำสุดในรอบ 3 ปี 4 เดือน) และยังต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% อีก
 
อย่างไรก็ตามแหล่งพักเงินที่ดีอีกทางหนึ่งในเวลานี้ คือ หุ้นปันผลสูงผันผวนต่ำ ถือเป็นเบาะรองชั้นเยี่ยมยามตลาดปรับฐาน โดยฝ่ายวิจัยฯคัดกรองในเชิงปริมาณ โดยใช้เงือนไขดังนี้
 
เงื่อนไขการคัดกรอง
Dividend Yield>3.29% ต่อปี (3.29% คือ คาดการเงินปันผลของ SET Index ในปี 2562 นี้) 
ปี 2561 มีการจ่ายปันผลระหว่างกาล
Upside > 5%
Beta < 1
ฝ่ายวิจัย แนะนำ “ซื้อ”
 
หุ้นปันผลสูง กองทุนอสังหาฯ และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ฝ่ายวิจัยคัดสรร ใกล้เข้าสู่รอบการจ่ายปันผลในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. 62 ซึ่งราคาหุ้นปันผลสูง ส่วนใหญ่จะปรับตัวขึ้นได้ดี และ Outperform ตลาดก่อนการจ่ายปันผลเสมอ และยังมีประเด็นการเก็บภาษี 15% ในกองทุนรวมตราสารหนี้ (ในวันที่ 20 ส.ค. 62) ช่วยเสริมความน่าสนใจเข้ามาอีกแรง
Top pick ยังคงเลือก JASIF เนื่องจากราคาตลาดสูงกว่าราคาประเมินเพียง 5% เท่านั้น (Premium ต่ำกว่ากลุ่มมาก) และสามารถคาดหวัง Dividend Yield ได้สูงถึง 8.5% ต่อปี และที่สำคัญเป็นกองประเภท Freehold ทำให้ NAV ไม่ถูกลดทอนตามอายุโครงการที่ใกล้หมดลง ซึ่งต่างจาก Leasehold
 
ภรณี ทองเย็น, CISA 
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม, 
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
 ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
   ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!