ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแล utility token พร้อมใช้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้ (utility token พร้อมใช้) เพื่อให้มีกลไกคุ้มครองผู้ซื้อขายที่เหมาะสมเพียงพอ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนานวัตกรรม พร้อมทั้งส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2567
ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล utility token พร้อมใช้ เพื่อให้การกำกับดูแล สอดคล้องกับลักษณะ ความเสี่ยง และการใช้งานของ utility token พร้อมใช้ แต่ละประเภท โดยมีกลไกคุ้มครองผู้ซื้อขายที่เพียงพอเหมาะสม ในขณะที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม การพัฒนานวัตกรรม และการส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ซึ่ง ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยผู้แสดงความเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการและร่างประกาศตามที่เสนอ ก.ล.ต. จึงออกประกาศเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแล utility token พร้อมใช้ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
(1) การกำกับดูแลการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลในตลาดแรก กำหนดให้ utility token พร้อมใช้ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือเป็นการรับรอง (certificate) หรือแทนเอกสารสิทธิใดๆ (utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1) ได้รับยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตเสนอขาย ในขณะที่ utility token พร้อมใช้ ลักษณะอื่นที่นอกเหนือจากกลุ่มที่ 1 (utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2) ซึ่งมีความประสงค์จะนำไปจดทะเบียนซื้อขาย (list) ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ต้องได้รับอนุญาตให้เสนอขายจาก ก.ล.ต. และเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด ซึ่งประกอบด้วยการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (แบบ filing) และร่างหนังสือชี้ชวน และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
ทั้งนี้ utility token ทุกประเภท ผู้ออกโทเคนดิจิทัลจะต้องไม่มีการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ถือโทเคนดิจิทัล (staking) เว้นแต่เป็นการ stake ตามที่กำหนดและ utility token ดังกล่าว ต้องไม่มีลักษณะเป็น Means of Payment (MOP) ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(2) การกำกับดูแลตลาดรอง กำหนดให้การบริการเกี่ยวกับ utility token กลุ่มที่ 1 ไม่ว่าจะพร้อมใช้หรือไม่พร้อมใช้ ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จึงห้ามศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ให้บริการเกี่ยวกับ utility token ดังกล่าว* ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว มีความประสงค์จะให้บริการเกี่ยวกับ utility token กลุ่มที่ 1 ไม่ว่าจะพร้อมใช้หรือไม่พร้อมใช้ ในฐานะการประกอบกิจการอื่น จะต้องแยกนิติบุคคลในการให้บริการ และไม่ใช้ชื่อหรือข้อความที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
นอกจากนี้ ยังปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มกลไกการกำกับดูแลและลดข้อกังวลในเรื่องการสร้างราคาในตลาดรอง รวมทั้งยกระดับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อคุ้มครองผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
ทั้งนี้ การออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว** ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป โดยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยกระดับการกำกับดูแลศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะเริ่มมีผลใช้บังคับภายหลังจากประกาศที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับ 90 – 180 วัน (แล้วแต่เรื่อง) เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเวลาเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์
____________________
หมายเหตุ:
* คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจกำหนดข้อยกเว้นให้ศูนย์ซื้อขาย นายหน้าซื้อขาย และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถให้บริการ utility token กลุ่มที่ 1 บางลักษณะได้ในอนาคต
** ประกาศที่เกี่ยวข้องจำนวน 7 ฉบับ ดังนี้
(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 16/2567 เรื่อง การไม่นำบทบัญญัติว่าด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนมาใช้บังคับกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลบางลักษณะ (https://publish.sec.or.th/nrs/10303s.pdf)
(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 17/2567 เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ฉบับที่ 12) (https://publish.sec.or.th/nrs/10304s.pdf) และภาคผนวกโทเคนดิจิทัลที่ใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ และการฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับผลตอบแทน (https://publish.sec.or.th/nrs/10305s.pdf)
(3) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 18/2567 เรื่อง การกำหนดลักษณะการให้บริการที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) (https://publish.sec.or.th/nrs/10308s.pdf) และภาคผนวกโทเคนดิจิทัลที่ใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ การฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับผลตอบแทน และโทเคนดิจิทัลเพื่อการแลกเปลี่ยนประจำโครงการ (https://publish.sec.or.th/nrs/10309s.pdf)
(4) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2567 เรื่อง การกำหนดลักษณะการให้บริการที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 3) (https://publish.sec.or.th/nrs/10310s.pdf)
(5) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 20/2567 เรื่อง การกำหนดลักษณะการให้คำแนะนำแก่ประชาชนที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) (https://publish.sec.or.th/nrs/10311s.pdf)
(6) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 21/2567 เรื่อง การกำหนดลักษณะการจัดการเงินทุนที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (https://publish.sec.or.th/nrs/10313s.pdf)
(7) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 22/2567 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 23) (https://publish.sec.or.th/nrs/10315s.pdf) และภาคผนวก 3 การกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (https://publish.sec.or.th/nrs/10316s.pdf) และภาคผนวก 4 การขึ้นเครื่องหมายสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล (https://publish.sec.or.th/nrs/10318s.pdf)
8428